วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เยี่ยมฟาร์มปลานิลเพื่อนบ้าน มาเลเซีย




วันนี้ลองไปเยี่ยมฟาร์มปลานิลที่ประเทศมาเลเซียกัน ชื่อฟาร์ม พีเคพีเอส อยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เป็นฟาร์มที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีการเลี้ยงปลานิลดำและปลานิลแดง ซึ่งที่มาเลเซียจะนิยมบริโภคปลานิลมีชีวิต และ ต้องไม่มีกลิ่นโคลน ทำให้ต้องมีการเลี้ยงในบ่อดินก่อนแล้วจึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อปูน เพื่อลดกลิ่นโคลน แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตไม่มาก ทำให้ราคาปลาสูงถึง 80 บาทต่อกิฺโลกรัม
ฟาร์มแห่งนี้นับเป็นต้นแบบในประเทศมาเลเซีย ที่ปลาทะเลเป็นที่นิยมมากกว่าปลาน้ำจืดอย่างปลานิล แต่ในระยะหลัง เริ่มมีการเพิ่มจำนวนฟาร์มมากขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตยังค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในการส่งออกได้


เอกราชพันธุ์ปลา ฟาร์มปลานิลมาตรฐาน BAP เพื่อการส่งออกแห่งแรกของไทย

นอกจากการผลิตปลาให้ได้คุณภาพแล้ว มาตรฐานการผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ในปัจจุบัน มาตรฐานฟาร์มปลานิลระดับนานาชาติที่รู้จักกัน คือ Best Aquaculture Practices หรือ BAP ที่มีการเิริ่มนำมาใช้เมื่อปลายปี 2551 เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการผลิตปลานิลทั้งระบบใ้ห้กับผู้บริโภค โดยในประเทศไทย มี "ฟาร์ม เอกราชพันธุ์ปลา" ที่จังหวัดอ่างทอง เป็นฟาร์มแรกที่รับมาตรฐานนี้
การที่เกษตรกรได้รับมาตรฐานนี้จากต่างประเทศ ทำให้การขยายตลาดทำได้ง่ายขึ้น

ยุโรปและอเมริกา ตลาดที่ท้าทาย


ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลักของผลผลิตปลานิลจากประเทศจีน มีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนปลาทะเลเนื้อขาว เช่น ปลาคอด พอลล็อค โฮกิ ที่มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ โดยทั้งสองตลาดนำเข้าเนื้อปลานิลแล่แช่แข็งจำนวนมาก โดยใช้ปลาขนาด 800 กรัมเป็นหลัก ส่วนปลาขนาด 500-800 กรัม สามารถผลิตเป็นปลาทั้งตัวแช่แข็ง แต่มีความต้องการน้อยและราคาค่อนข้างต่ำ
โดยปลานิลที่นำมาผลิตเป็นเนื้อปลาแล่จะต้องมีปริมาณเนื้อค่อนข้างมาก ไม่มีกลิ่นโคลน และ เนื้อเป็นสีขาว ซึ่งเป็นข้อจำกัดของปลานิลในประเทศไทย เนื่องจากปลานิลส่วนใหญ่ในบ้านเรา มีการเลี้ยงในบ่อดิน ให้อาหารที่ไม่เหมาะสมกับการผลิตปลาใหญ่ ทำให้ไม่สามารถผลิตปลาขนาด 800 กรัมได้มากเพียงพอ และ ปริมาณเนื้อค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับจีน และในขั้นตอนการแปรรูป ก็ขาดแคลนโรงงานที่สามารถผลิตปลานิลแล่ให้มีเนื้อสีขาวได้ เนื่องจากจะต้องนำปลาที่มีชีวิต มาแปรรูปที่โรงงาน แต่โรงงานแปรรูปที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถรับปลามีชีวิตมาผลิตได้
จากอุปสรรคในเรื่องการผลิตและการแปรรูป ทำให้เรายังไม่สามารถส่งออกปลานิลไปยังตลาดยุโรปและอเมริกาได้มาก แต่เนื่องจากความต้องการที่มากและราคาที่จูงใจ ทำให้มีแนวโน้มในการพัฒนาการเลี้ยงและโรงงานแปรรูป เพื่อให้สามารถผลิตเนื้อปลาแล่ที่สามารถแข่งขันกับประเทศจีนได้

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ปลานิลเชื้อชาติไทยกับการแข่งขันในตลาดโลก


ตลาดส่งออกปลานิลของไทยยังคงเป็นประเทศแถบตะวันออกกลางและอาฟริกา โดยมียุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดรอง สาเหตุเนื่องจากปลานิลส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ มีขนาดเล็กเพียง 300 - 800 กรัม ไม่เหมาะกับการผลิตเป็นเนื้อปลานิล สามารถแปรรูปเป็นปลาทั้งตัวแช่แข็งได้เท่านั้น และการส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ก็ไม่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง เมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกา แต่เนื่องจากราคาวัตถุดิบค่อนข้างเปลี่ยนแปลงจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทำให้สามารถส่งออกได้เพียงช่วงที่มีผลผลิตล้นตลาดในช่วงที่ราคาตกลงต่ำกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม
ตลาดปลานิลขนาดเล็กยังมีความต้ิองการมาก แต่ต้องมีการวางแผนผลิตที่ดี ลดต้นทุนการผลิต และ เพิ่มรอบการเลี้ยงให้ได้ 2 รอบต่อปี สามารถกำหนดราคารับซื้อได้ตลอดทั้งปีที่ 18-24 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับปลาขนาด 200 - 500 กรัม

จีน ผู้ส่งออกปลานิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลานิลมากที่สุดในโลก โดยมีไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของผู้ส่งออก แต่มีปริมาณน้อยกว่าจีนอย่างมากมาย ทั้งๆที่มีอากาศเหมาะสมกับการเลี้ยงปลานิลเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุผลหลัก คือ จีนมีืพืนที่ในการเลี้ยงค่อนข้างมาก มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปปลานิลเป็นเวลานาน และมีการสนับสนุนทางภาษีจากรัฐบาล ทำให้สามารถผลิตปลานิลแปรรูปที่มีราคาถูก และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด
แต่ประเทศจีนก็มีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพอากาศ ที่สามารถเลี้ยงได้เพียง 8 เดือน และ ต้องหยุดเลี้ยงในฤดูหนาว ทำให้มีการเลี้ยงได้เพียงปีละ 1 รอบเท่านั้น
ปลานิลส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ จะเป็นปลาขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 500 - 1200 กรัม เหมาะกับการผลิตเนื้อปลานิลแช่แข็ง ประกอบกับมีโรงงานแปรรูปปลานิล ขนาดใหญ่ ทำให้สามารถส่งออกได้เป็นจำนวนมาก โดยที่ตลาดปลานิลส่วนใหญ่ ต้องการเนื้อปลานิลขนาด 140 กรัมขึ้นไป ซึ่งต้องใช้ปลานิลขนาด 800 กรัมมาผลิต
การเลี้ยงปลานิลของจีน จะเน้นการส่งออก ทำให้มีการเลี้ยงปลาใกล้กับโรงงานแปรรูป ทำให้ลดการขนส่งและ ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี

ตลาดปลานิลเืพื่อส่งออก


ปลานิลเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงเพื่อส่งออกได้ โดยที่ขนาด 150-400 กรัม มีความต้องการส่งออกไปยังตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก แต่ราคาค่อนข้างต่ำ ราคาวัตถุดิบอยู่ที่ 16-20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนขนาด 400- 800 กรัม มีความต้องการจากยุโรปและอเมริกา ราคาวัตถุดิบอยู่ที่ 24-30 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนปลานิลขนาด 800 กรัมขึ้นไป จะนำไปทำเป็นเนื้อปลาแช่แข็ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาดีที่สุด ประมาณ 40 -50 บาทต่อกโลกรัม

ปลานิลมีความต้องการเพื่อส่งออกมากมาย แน่นอนว่าตลาดแต่ละที่ มีความต้องการแตกต่้างกันค่อนข้างมาก ดังนั้นเราจะต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะเลี้ยงให้ได้ผลผลิตแบบไหน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง การเลี้ยงปลาให้ได้ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ราคาที่ดี ก็แลกมาด้วยต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การที่เราจะได้ราคาผลผลิตที่ดี นอกจากจะดูที่ขนาดยังเกี่ยวเนื่องไปถึงคุณภาพปลา และ มาตรฐานการผลิตอีกด้วย