วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ไบโอฟล็อค เทคโนโลยีใหม่เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


ไบโอฟล็อค คือ เทคนิคการจัดการให้ของเสียที่เกิดจากสัตว์น้ำ สามารถกลับไปเป็นอาหารของสัตว์น้ำเหล่านั้นอีก โดยการทำงานของจุลินทรีย์ในบ่อเลี้ยง และ การควบคุมอัตราส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจนในบ่อ ทำให้สามารถทำการเลี้ยงได้อย่างหนาแน่น ไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำตลอดการเลี้ยง และสามารถใช้อาหารที่มีโปรตีนต่ำได้ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงในส่วนนี้ลดลง แต่จะต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด เพิ่มต้นทุนในการเพิ่มอากาศภายในบ่อตลอดเวลา เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการถ่ายเทน้ำ และ มีพื้นที่น้อยแต่ต้องการผลผลิตจำนวนมาก เพราะผู้เลี้ยงไม่ต้องเสี่ยงกับการนำน้ำที่มีคุณภาพไม่ดีเข้ามาในบ่อ และใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะค่อนข้างยุ่งยาก และต้องมีความเข้าใจในระบบค่อนข้างดี

แนะนำมานิตย์ฟาร์ม

บนพื้นที่กว่า 1000 ไร่ ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของมานิตย์ฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตลูกปลานิล และปลานิลขุนรายใหญ่ แต่ข้อแตกต่างจากฟาร์มอื่นคือ มานิตย์ฟาร์มผลิตปลานิลขุนเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ เนื่องจากฟาร์มตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย ทำให้ปลานิลมีรสชาติที่ดี ไม่มีกลิ่นโคลน และ ปลาที่ได้ก็มีขนาดใหญ่ ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้ส่งออกจำนวนมาก จนผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ มานิตย์ฟาร์มก็ได้มีการพัฒนาการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อยู่ตลอดเวลา ทำใ้ห้เป็นฟาร์มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี
และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาการเลี้ยงปลานิล และ ประสบความสำเร็จ โดยมีจุดเริ่มจากความเข้าในสิ่งที่ตลาดต่างประเทศต้องการ และตอบสนองสิ่งนั้น ซึ่งแน่่นอนว่าจะต้องใช้ความพยายามและเวลาเป็นอย่างมาก
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเวปไซด์ http://www.manitfarm.com

การเลี้ยงปลานิลที่เหมาะสม 3

สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลานิลขนาดใหญ่ 800 กรัมขึ้นไป ก็มีขั้นตอนเพิ่มขึ้น คือ ปลาที่ขนาด 300 กรัมในบ่อดิน จะต้องถูกย้ายมาเลี้ยงในกระชังในบ่อ ที่มีความหนาแน่น 600-800 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร และมีการเพิ่มเครื่องเพิ่มอากาศในเวลากลางคืน ส่วนอาหารที่ใช้ ต้องเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 25 % ขึ้นไป
ข้อดีของการเลี้ยงแบบกระชังในบ่อ คือ ปลาจะโตเร็ว มีเนื้อมาก ใช้เวลาเลี้ยงในกระชังเพียง 60 วัน ก็สามารถขายเป็นปลามีชีวิตให้พ่อค้า หรือ โรงงานแปรรูปที่ต้องการทำเนื้อปลาแล่ โดยจะมีราคา 40 บาทขึ้นไป แต่ข้อเสีย คือ มีต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น และ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะปลาค่อนข้างหนาแน่น
การเลี้ยงรูปแบบนี้ ค่อนข้างเหมาะสมกับการเลี้ยงเพื่อส่งออกสู่ตลาดที่ต้องการสินค้ามีคุณภาพ ซึ่งไทยเรายังผลิตได้ค่อนข้างน้อย ถ้าหากมีผู้สนใจเลี้ยงมากขึ้น ก็จะสามารถพัฒนาตลาดได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

การเลี้ยงปลานิลที่เหมาะสม 2

ปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เพียงแต่มีแหล่งน้ำที่สะอาด ใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่เพื่อขุดบ่อลึกประมาณ 1.5 เมตร การที่บ่อมีขนาดใหญ่ จะทำให้บ่อมีปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ โดยไม่ต้องใช้เครื่องตีน้ำ แล้วปล่อยลูกปลานิลขนาด 2 ซม. ประมาณ 3000-4000 ตัวต่อไร่ โดยมีการเตรียมใส่ปุ๋ยในบ่อ เพื่อให้มีอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา รวมทั้งการให้อาหารชนิดอื่นที่มี ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5-6 เดือน ก็จะได้ปลาขนาด ประมาณ 300 กรัม ซึ่งสามารถแบ่งจับไปขาย เพื่อลดความหนาแน่น แล้วเลี้ยงต่ออีก 3-4 เดือนก็จะได้ปลาขนาด 600 กรัม แล้วจึงจับปลาขายทั้งหมด โดยในช่วงท้ายควรจะเพิ่มการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซนต์โปรตีน 20% ขึ้นไปในการเลี้ยง เพื่อให้ได้ปลาที่มีน้ำหนักมาก ปลาในกลุ่มนี้สามารถใช้เพื่อส่งออกได้ และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าราคารับซื้อของโรงงาน
ในบ่อเลี้ยงปลานิล เราก็สามารถปล่อยปลาชนิดอื่นลงไปได้ เช่น ปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ ที่สามารถขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยโรงงานก็สามารถรับซื้อได้ในขนาด 800 กรัมขึ้นไปสำหรับปลายี่สกและปลานวลจันทร์ ส่วนปลาตะเพียนขนาด 200 กรัม จะมีราคาเฉลี่ยที่ 20-24 บาท ซึ่งเป็นวิธีเลี้ยงแบบคร่าวๆ แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพของแต่ละพื้นที่

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จุดอ่อนของการส่งออกปลานิล

เนื่องจากการเลี้ยงปลานิลในบ้านเราเกิดขึ้นเป็นเวลานาน เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลักแต่เมื่อมองไปที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ในประเทศอื่น เช่น เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส หรือ อินโดนีเซีย จะพบว่า ฟาร์มเลี้ยงเกิดขึ้นพร้อมกับโรงงานแปรรูป ทำให้ได้เปรียบมากในเรื่องการผลิตและการทำตลาด แม้แต่จีนเองก็ได้มีการพัฒนาเพื่อส่งออก โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้มูลสัตว์หรือเศษอาหาร มาเป็นการเลี้ยงแบบหนาแน่นเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี และที่สำคัญสำหรับปลาน้ำจืด คือ การขนส่งจากฟาร์มสู่โรงงานจะต้องเป็นปลามีชีวิตเท่านั้น เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี มีราคาสูง
สำหรับประเทศไทย พื้นที่การเลี้ยงอยู่กระจายทั่วไป และค่อนข้างห่างจากโรงงานแปรรูป ทำให้เกิดความยุ่งยากในการผลิตและมีต้นทุนสูง เราไม่สามารถแข่งขันได้ในเรื่องคุณภาพสินค้า เนื่องจากโรงงานไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการผลิตปลาน้ำจืด เหมือนกับประเทศคู่แข่ง ทำให้เราสามารถผลิตได้เพียงสินค้าคุณภาพต่ำ ใช้ราคาเป็นจุดขาย ในเมื่อไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีราคาสูงได้ ก็ไม่สามารถเพิ่มราคาวัตถุดิบให้จูงใจเกษตรกรหันมาผลิตปลาที่มีคุณภาพได้
ดังนั้น การที่จะพัฒนาการส่งออก คงไม่สามารถทำเพียงด้านเดียวได้ แต่ต้องเป็นการทำพร้อมๆกันในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปลานิลไทยสามารถแข่งขันได้เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ

การเลี้ยงปลานิลที่เหมาะสม

การเลี้ยงปลานิลมีหลายรูปแบบ ต้องดูที่ความพร้อมของเกษตรกรและความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดนส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงปลาในบ่อดินหรือในกระชัง การเลี้ยงปลาในบ่อดินจะได้ปลาที่มีขนาดเล็ก ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนาน แต่จะมีต้นทุนต่ำ ส่วนการเลี้ยงในกระชัง จะได้ปลาที่มีขนาดใหญ่ ระยะเวลาสั้น แต่มีต้นทุนสูง
การเลี้ยงเพื่อส่งออกในปัจจุบัน จะเน้นปลาที่มีขนาด 400-800 กรัม ซึ่งสามารถเลี้ยงในบ่อดินได้ โดยการใช้อาหารที่มีในท้องถิ่นเป็นหลัก ในระยะเวลา 8-10 เดือนก็สามารถจับส่งโรงงานแปรรูปได้ หรือ ส่งให้พ่อค้าคนกลาง โดยมีต้นทุนการผลิต 15-20 บาทต่อกิโลกรัม และ ราคาที่โรงงานรับซื้อจะอยู่ที่ 24-32 บาท ต่อกิโลกรัม
ส่วนปลาที่เลี้ยงในกระชังจะมีขนาด 600-1000 กรัม มีเนื้อมาก ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงเพียงแค่ 4-6 เดือน แต่จะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ถ้าหากเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ และ ต้องใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป ที่มีโปรตีนสูง เนื่องจากปลาไม่สามารถหาอาหารตามธรรมชาติได้ โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 35-45 บาท ทำให้ไม่สามารถใช้เพื่อการส่งออกได้ นอกจากจะทำการแปรรูปเป็นเนื้อปลาแล่ ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในกระบวนการผลิต ทำให้มีความต้องการเพื่อส่งออกปลาแบบนี้ ค่อนข้างน้อย