วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จุดอ่อนของการส่งออกปลานิล

เนื่องจากการเลี้ยงปลานิลในบ้านเราเกิดขึ้นเป็นเวลานาน เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลักแต่เมื่อมองไปที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ในประเทศอื่น เช่น เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส หรือ อินโดนีเซีย จะพบว่า ฟาร์มเลี้ยงเกิดขึ้นพร้อมกับโรงงานแปรรูป ทำให้ได้เปรียบมากในเรื่องการผลิตและการทำตลาด แม้แต่จีนเองก็ได้มีการพัฒนาเพื่อส่งออก โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้มูลสัตว์หรือเศษอาหาร มาเป็นการเลี้ยงแบบหนาแน่นเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี และที่สำคัญสำหรับปลาน้ำจืด คือ การขนส่งจากฟาร์มสู่โรงงานจะต้องเป็นปลามีชีวิตเท่านั้น เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี มีราคาสูง
สำหรับประเทศไทย พื้นที่การเลี้ยงอยู่กระจายทั่วไป และค่อนข้างห่างจากโรงงานแปรรูป ทำให้เกิดความยุ่งยากในการผลิตและมีต้นทุนสูง เราไม่สามารถแข่งขันได้ในเรื่องคุณภาพสินค้า เนื่องจากโรงงานไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการผลิตปลาน้ำจืด เหมือนกับประเทศคู่แข่ง ทำให้เราสามารถผลิตได้เพียงสินค้าคุณภาพต่ำ ใช้ราคาเป็นจุดขาย ในเมื่อไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีราคาสูงได้ ก็ไม่สามารถเพิ่มราคาวัตถุดิบให้จูงใจเกษตรกรหันมาผลิตปลาที่มีคุณภาพได้
ดังนั้น การที่จะพัฒนาการส่งออก คงไม่สามารถทำเพียงด้านเดียวได้ แต่ต้องเป็นการทำพร้อมๆกันในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปลานิลไทยสามารถแข่งขันได้เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น